รายละเอียดการประกวด

เขียนโดย: sittichai เมื่อ: อ. 12 ต.ค. 2564 - 12.55 น.

        การประกวดนักเทคโนโลยีและนวัตกรรุ่นเยาว์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Young Electronics Technologists and Innovators) หรือ YETI เป็นการแข่งขันที่ต่อยอดมาจากการแข่งขันประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์  (Youth’s Electronics Circuit Contest) หรือ YECC ซึ่งปิดฉากลงไปเมื่อ พ.ศ. 2562 สำหรับการแข่งขัน YECC เดิมนั้น เป็นกิจกรรมสืบเนื่องที่จัดหลังจากค่ายนักอิเล็กนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์เสร็จสิ้น ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยแบ่งเป็นการแข่งขันเป็นประเภทนักศึกษาและประเภทนักเรียน แต่ในปี 2564 นี้  โครงการฯ ได้ยกเลิกการแข่งขันประเภทนักศึกษา เหลือเพียงการแข่งขันประเภทนักเรียน ในระดับขั้น ม.1-2     ที่ปรับรูปแบบจากการแข่งขันเพื่อวัดทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการตอบคำถาม (ภาคทฤษฎี) และต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ตามโจทย์ที่กำหนด (ภาคปฏิบัติ) มาเป็นการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์หรือโครงงานวิศวกรรมศาสตร์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน โรงเรียน และชุมชนต่อไป โดยในปี 2564 นี้การประกวดมาในหัวข้อ “พลังงาน และสิ่งแวดล้อมรอบตัว”  โดย 1 โครงงาน ต้องประกอบด้วย นักเรียน หัวหน้าโครงการ 1 คน นักเรียนผู้พัฒนา 1 คน ครูที่ปรึกษาโครงงาน 1 คน และพี่เลี้ยง นิสิต นักศึกษาจากค่ายนั้นๆ 1 คน รวมกันพัฒนาโครงงาน ซึ่งประสบการณ์ที่เยาวชนจะได้รับหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมจะเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองสู่การเป็นนักคิดค้นหรือนักประดิษฐ์สาขาอิเล็กทรอนิกส์ระดับอาชีพต่อไปในอนาคต

1. รูปแบบการประกวด
        ผู้แข่งขันจะต้องสร้างสรรค์โครงงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำความรู้ หลักการ ทฤษฎีทางอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์หรือความรู้ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์มาประยุกต์ เพื่อให้เกิดการนำอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาท้องถิ่น โดยในปีนี้ ได้กำหนดหัวข้อการแข่งขันเรื่อง พลังงาน และ สิ่งแวดล้อมรอบตัว
        พลังงาน เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มาพัฒนาผลงานเพื่อ “การผลิตพลังงานทางเลือก” “เพื่อลดการใช้พลังงาน” หรือ “เพื่อบริหารจัดการ พลังานให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
สิ่งแวดล้อมรอบตัว  เป็นการนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ ได้แก่ การแก้ปัญหา PM 2.5 หรือตรวจสภาพสิ่งแวดล้อมในการทำนายพฤติกรรมบางอย่าง เช่น สถานีวัดอากาศที่ทำให้สามารถคำนวณการจัดการเรื่องน้ำในการเกษตรได้ เป็นต้น

2. รายละเอียดการประกวด
        2.1 กำหนดการ

             

        2.2 เงินทุนพัฒนาผลงาน และเงินรางวัล
                   เงินทุนพัฒนาผลงาน    6,000 บาท ต่อโครงการ
                   เงินรางวัล                   72,000 บาท
                        รางวัลที่ 1              30,000 บาท
                        รางวัลที่ 2              20,000 บาท
                        รางวัลที่ 3              10,000 บาท
                        รางวัลชมเชย (2 รางวัลๆ ละ 5,000 บาท)     10,000 บาท
                        รางวัลขวัญใจมหาชน (เงินหรือของรางวัล)     2,000 บาท

        2.3 เงื่อนไขการส่งข้อเสนอโครงงานและการประกวดโครงงาน
                •    ผู้เสนอโครงการ สามารถส่งโครงงานเข้าร่วมได้ มากกว่า 1 โครงงาน โครงการหนึ่งต้องประกอบด้วยนักเรียน 2 คน ครูของนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมส่งโครงงาน 1 คน และนิสิต นักศึกษาพี่เลี้ยงค่ายนั้นๆ 1 คน
                •    ผู้พัฒนาลงนามในข้อตกลงรับทุนสนับสนุนโครงงาน ระหว่างเนคเทคและผู้พัฒนา ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
                •    การรับเงินทุนสนับสนุน สามารถติดต่อขอรับเงินทุนสนับสนุน และเงินสนับสนุนการประกวดรอบชิงชนะเลิศ ได้จากเนคเทค
                •    เมื่อได้รับเงินทุนสนับสนุนโครงงานจากเนคเทคแล้ว หากผู้จัดทำไม่สามารถจัดทำโครงงานได้ ตามข้อเสนอ ผู้จัดทำต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอยกเลิกการทำโครงงานและคืนเงินทุนให้ แก่เนคเทคเต็มจำนวน
                •    โครงงานต้องเป็นความคิดริเริ่มของผู้จัดทำ โดยไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
                •    ทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานที่เกิดขึ้นเป็นของผู้จัดทำ ทั้งนี้ เนคเทคสามารถนำผลงานไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อการศึกษา วิจัย ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงาน โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าได้
                •    ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงงาน ผู้จัดทำต้องระบุข้อความหรือชี้แจงให้สาธารณชนทราบว่า เนคเทคเป็นผู้สนับสนุนและให้ทุน
                •    ผู้จัดทำโครงงานต้องติดตามข้อมูลข่าวสารจากค่าย eCamp : Next Gen ต้นสังกัด ซึ่งอาจมีการประกาศ เป็นระยะผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค eCamp : Next Gen – YETI หรือเว็บไซต์หลักของโครงการฯ
                •    ผู้จัดทำโครงงานต้องแจ้งปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับโครงงานทุกครั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลงต่างไปจากข้อเสนอโครงการ ให้เนคเทครับทราบผ่านศูนย์ประสานงาน eCamp : Next Gen ต้นสังกัดของผู้แข่งขัน เป็นลายลักษณ์อักษร ภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 วัน นับจากวันที่ได้รับทุนรอบแรก โดยสิทธิ์ในการรพิจารณาอนุมัติให้เป็นไปตามอำนาจตัดสินใจของศูนย์ประสานงาน โดยคำนึงถึงสาระสำคัญของโครงงานเป็นหลัก

       2.4 หลักเกณฑ์การตัดสินคัดเลือกข้อเสนอโครงงาน
              ความถูกต้องทางเทคนิค (น้ำหนัก 40%)
                     •    มีแนวคิด การกำหนดปัญหา และเป้าหมายที่ชัดเจน
                     •    ใช้ทฤษฎีหรือหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างเหมาะสมถูกต้อง
                     •    มีแผนดำเนินงานและกรรมวิธีไปสู่การสร้างโครงงานที่สำเร็จและสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้
                           หรือกลายเป็นนวัตกรรมอันมีคุณค่า
                     •    มีแผนการทดสอบ ทดลอง หรือเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนา
                     •    มีการคาดการณ์ปัญหาและมีแผนการพัฒนาต้นแบบให้ดีขึ้น
             ความคิดสร้างสรรค์ (น้ำหนัก 40%)
                     •    เป็นเรื่องหรือหัวข้อที่แปลกใหม่ น่าสนใจ มีศักยภาพที่สามารถนำไปใช้หรือพัฒนาต่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้
                     •    แนวคิดเริ่มต้นของโครงงานต้องชัดเจน น่าสนใจ
                           และมีวิธีการดำเนินโครงงานอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับแนวคิดเริ่มต้นนี้
                     •    สามารถสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมได้
             การเสนอข้อมูล (น้ำหนัก 20%)  
                     •    มีเนื้อหาถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน
                     •    สื่อสารให้ผู้อ่านหรือผู้ชมเข้าใจได้
                     •    มีแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่หนักแน่นพอ และน่าเชื่อถือ

       2.5 การส่งข้อเสนอโครงงาน และการพิจารณา จากค่ายมายังการประกวดส่วนกลาง
                •    ผู้สมัครส่งข้อเสนอโครงงานที่มีรายละเอียดชัดเจน  ผ่านการรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงาน eCamp : Next Gen ต้นสังกัด จากนั้นแต่ละศูนย์ประสานงานจัดการประกวดรอบคัดเลือกข้อเสนอโครงการในวันสุดท้ายของกิจกรรมค่าย eCamp : Next Gen และคัดเลือกที่      1-2-3 โดยสรุปคะแนน เหตุผล ข้อสังเกต ตามแบบฟอร์มที่เนคเทคแนบให้ พร้อมเอกสารแนบประกอบที่มีทั้งหมดสแกนเป็น Soft file รวบรวมส่งมายังเนคเทค
                •    เนคเทคพิจารณาข้อเสนอโครงงานรอบแรก โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                •    ประกาศผลข้อเสนอโครงงานรอบแรกที่ผ่านการพิจารณา ผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค eCamp : Next Gen – YETI  หรือเว็บไซต์หลักของโครงการฯ
                •    ผู้พัฒนาจัดทำโครงงานให้สมบูรณ์ และอัพโหลดวีดิทัศน์การสาธิตโครงงานบน YouTube แบ่งเป็นส่วนความก้าวหน้าโครงงาน 1 คลิป ความยาวเนื้อหาระหว่าง 5 นาที และส่วนที่นักเรียนกำลังประกอบวงจร 1 คลิป ความยาวเนื้อหาระหว่าง 5 นาที และส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยอาจารย์ที่ปรึกษาค่ายฯ รวบรวมโครงงานและลิงค์ YouTube มายังเนคเทคทางเมล์
                        
                •    เนคเทคพิจารณาโครงงาน โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                •    ประกาศผลการพิจารณาโครงงานที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค eCamp : Next Gen – YETI  หรือเว็บไซต์หลักของโครงการฯ
                •    หลังทราบผลการพิจารณาผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ผู้พัฒนาต้องส่งไฟล์โปสเตอร์ขนาด 60 x 80 cm. (ปรากฏรูปแบบทางเว็บไซต์หลักของโครงการฯ) ที่พร้อมพิมพ์ได้ อย่างน้อย 10 วันก่อนวันจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในการประกวด และให้ทีมแข่งขันพิมพ์โปสเตอร์ มาติดที่บูธแสดงผลงาน โดยทีมแข่งขันทุกทีมต้องนำอุปกรณ์สาธิตอื่นๆ มาติดตั้งก่อนกรรมการตรวจผลงานในช่วงเช้าของวันแข่งขัน (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเนคเทคจะแจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้า) และนำเสนอให้แก่คณะกรรมการตัดสินและผู้สนใจรับชมได้รับทราบผลงานโครงงาน

       2.6 รายละเอียดการเขียนข้อเสนอโครงงาน
              ส่วนที่ 1   
             1.1 หน้าปก (ตัวอย่างแบบฟอร์มหน้าปกข้อเสนอโครงการ) ซึ่งระบุรายละเอียด ดังนี้
                   •    ชื่อโครงงานเป็น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
                   •    ข้อมูลของผู้พัฒนาโครงงาน โดยระบุหัวหน้าโครงการ และผู้ร่วมพัฒนา โดยมีคำนำหน้าชื่อ (ดญ./ ดช./ นาย/ นาง/ นางสาว) ชื่อ นามสกุล ระดับการศึกษา สถานศึกษา สถานที่ติดต่อ โทรศัพท์ โทรสาร อีเมล์ และลายมือชื่อ
                   •    ข้อความรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงาน eCamp : Next Gen ต้นสังกัดว่า “โครงงานนี้เป็นความคิดริเริ่มของผู้พัฒนาโครงงานและไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากผลงานของผู้อื่นผู้ใด ข้าพเจ้ายินดีและรับรองที่จะเป็นผู้ดูแล ให้คำปรึกษา และควบคุมการจัดทำและพัฒนาโครงงานให้สมบูรณ์เรียบร้อยตามเจตนา” พร้อมลงลายมือชื่อ
             1.2 บทคัดย่อ ซึ่งอธิบายถึง
                   •    จุดเริ่มต้น เหตุผลในการทำโครงงาน ปัญหาที่ต้องการแก้ไข หรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาโดยโครงงานนี้
                   •    ผลสำเร็จหรือเป้าหมายที่คาดหวังจากโครงงาน
                   •    แนวคิดการออกแบบ เช่น ทฤษฎีหรือหลักการที่เกี่ยวข้อง ผังงาน (flow chart) บล็อกไดอะแกรม (Block Diagram) รหัสเทียม (pseudo code) เป็นต้น
             1.3 รายละเอียดขั้นตอนในการทำโครงงานตามที่ออกแบบไว้ (แผนปฏิบัติงาน)
             1.4 ลักษณะเฉพาะเจาะจงที่มีการนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ในโครงงาน
             1.5 แผนการทดสอบการใช้งานจริง
             1.6 ขอบเขตและข้อจำกัดของโครงงาน
             1.7 บรรณานุกรม
             1.8 ประวัติและผลงานดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของผู้จัดทำ
             1.9 สำเนาบัตรประชาชน พร้อมลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
             1.10 หากโครงงานมีการส่งเข้าประกวด หรือขอรับทุนจากแหล่งอื่น ผู้จัดทำและอาจารย์ที่ปรึกษาต้องแจ้งให้เนคเทคทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
             ส่วนที่ 2
             ข้อมูลของอาจารย์ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงาน (ค่าย) ต้นสังกัด และข้อมูลของครูที่ปรึกษาจากโรงเรียนซึ่งร่วมทีมแข่งขันในปีนั้น ๆ ด้วย ประกอบด้วย  
                  •    คำนำหน้าชื่อ (นาย/นาง/นางสาว) ชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง สังกัด สถานที่ติดต่อ
             โทรศัพท์พื้นฐาน ของสถาบันที่ติดต่อใน ณ ปัจจุบัน และมือถือ โทรสาร อีเมล์ และลายมือชื่อ
                  •    ประวัติ ขอบเขตงานที่เชี่ยวชาญ
                  •    สำเนาบัตรประชาชน พร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง

       2.7 การส่งผลงานและรายงานฉบับสมบูรณ์
             ผู้จัดทำต้องพัฒนาโครงงานให้แล้วเสร็จ จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ พร้อมกับผลงาน ภายในเวลาที่กำหนดนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติ และอัพโหลด file เข้าระบบ ควรประกอบด้วย
             1. หน้าปก ซึ่งระบุรายละเอียดตามแบบที่กำหนด (ตามตัวอย่าง)
             2. กิตติกรรมประกาศ ระบุข้อความการได้รับทุนอุดหนุน
             3. สารบัญ
             4. บทคัดย่อ
             5. วัตถุประสงค์โดยละเอียด
             5. ขั้นตอนการจัดทำโครงงาน การทดสอบใช้งาน
             6. ผลการทดสอบใช้งาน
             7. การวิเคราะห์ผล
             8. สรุปผล ให้เฉพาะเจาะจงในงานที่ได้กระทำไป สาระสำคัญมีความกระชับ ไม่กว้างเกินไป ไม่กล่าวถึงแนวคิดใหม่หรือสิ่งที่ยังไม่ได้กระทำในโครงงาน
             9. กิตติกรรมประกาศ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่ช่วยเหลือในการทำโครงงาน รวมทั้งบุคคล บริษัท สถานศึกษาและสถาบันวิจัยที่ผู้จัดทำโครงงานได้นำความรู้ หลักการ แนวคิด หรือผลงานมาใช้ ตลอดจนผู้ให้ทุนสนับสนุนหรือวัสดุอุปกรณ์อันเป็นประโยชน์ ทั้งนี้ หากผลงานมีการส่งเข้าร่วมประกวดหรือขอรับทุนจากแหล่งอื่นใด ผู้จัดทำและอาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องแจ้งให้เนคเทคทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
             10. บรรณานุกรม หรือหนังสืออ้างอิง ระบุถึงแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช้ผลงานของตนเอง เช่น หนังสือ บทความวิชาการ บทความในวารสารทางวิทยาศาสตร์ หรืออื่นๆ เว็บไซต์ เป็นต้น ใช้วิธีการเขียนอ้างอิงในรูปแบบที่เหมาะสม

       2.8 การจัดแสดงผลงาน
             โครงงานที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้สามารถเข้าร่วมในการประกวดนักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์ จะนำมาจัดแสดงนิทรรศการเพื่อนำเสนอ แก่บุคคล ผู้สนใจทั่วไป ผู้จัดทำต้องนำเสนอ สาธิต หรือให้ความรู้แก่ผู้สนใจได้ เงื่อนไขของการจัดแสดงผลงาน มีดังนี้
             1. มีรูปภาพ หรือวีดิทัศน์นำเสนอผลงาน
             2. หากโครงงานมีหรือประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ไม่สามารถจัดแสดงได้อย่างปลอดภัย ผู้จัดทำอาจแสดงภาพส่วนสาระสำคัญหรือใช้วิธีนำเสนออื่นให้ผู้รับชมเข้าใจแทน
             3. เป็นระเบียบ จัดเรียงลำดับเพื่อให้เข้าใจง่าย แสดงเหตุและผลอย่างชัดเจน ผู้รับชมสามารถมองเห็น เข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว
             4. มีความดึงดูดสายตา โดดเด่น มีชื่อโครงงาน ภาพ แผนภูมิ หรือกราฟ ที่ประณีตสวยงาม เพื่อดึงดูดผู้สนใจ
             5. หากใช้ตาราง แผนภูมิ หรือกราฟประกอบการนำเสนอ ควรมีข้อมูล การอ้างอิง และรูปแบบที่ถูกต้อง
             6. มีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล เอกสาร องค์ความรู้หรือผลงานอื่นที่นำมาใช้ ผู้จัดทำต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพถ่าย รูปภาพ เสียง หรือข้อความใดๆ